บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) สู่เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน เพื่อความยั่งยืนในชุมชนบางกะเจ้า .
บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) สู่เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน เพื่อความยั่งยืนในชุมชนบางกะเจ้า.ถ้าพูดถึงปอดของโลกก็ต้อง Amazon แต่ถ้าปอดของกรุงเทพก็ต้องนึกถึง “คุ้งบางกะเจ้า” นอกจากคุ้งบางกะเจ้าจะเป็นปอดของคนกรุงเทพแล้ว ที่นี่ยังเป็นอีกสถานที่พักผ่อนหย่อนใจใกล้เมืองกรุง ผู้คนมักนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจกันด้วยการปั่นจักรยาน และด้วยความร่มรื่นและเขียวชอุ่มของคุ้งบางกะเจ้า หลายๆ คนคงรู้สึกตกหลุมรักได้ไม่ยากเลย แต่ด้วยความที่คุ้งบางกะเจ้าเป็นบริเวณที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาส่งผลให้มีขยะลอยมาเกยตื้นจำนวนมาก และภาพเหล่านั้นก็ไม่น่ามองเอาเสียเลย .การดำเนินงานของคณะการจัดการขยะโครงการ OUR Khung BangKachao ได้จัดตั้งขึ้น โดยมีการดำเนินงานในรูปแบบ Social Collaboration Impact ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่มีมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นหัวเรือใหญ่ร่วมดำเนินการ ซึ่งมี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เป็นประธาน โดยร่วมกับกลุ่ม ปตท. อย่าง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และภาคีเครือข่าย เช่น Central Group,True,CP,SCB ฯลฯ รวมถึงชุมชนคุ้งบางกะเจ้า โดยนำแนวคิดเรื่อง “บวร” จากกลุ่ม ปตท. อย่าง GC และ GPSC เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าให้คงเป็นพื้นที่สีเขียว ทั้งสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสร้างความยั่งยืนในชุมชนคุ้งบางกะเจ้าสืบไป.....คำว่า “บวร” หมายถึง บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งทั้งสามสถาบันจะทำหน้าที่ในการจัดการขยะโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางแต่จะทำได้อย่างไรโพสต์นี้จะพาทุกคนไปดูกัน.จากปัญหาขยะในชุมชนคุ้งบางกะเจ้าทำให้ท่านพระมหาประนอม เจ้าอาวาสวัดจากแดงและ GC ได้ร่วมคิด วิธีแก้ไขโดยนำเอาคุณสมบัติของพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งก็คือการนำขวดน้ำที่ใช้แล้วมารีไซเคิล แล้วจึงนำไปผลิตเป็นจีวร .โดยวัดทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมขวดน้ำพลาสติก นำส่งให้กับทางบริษัทเพื่อเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นเส้นด้าย และเข้าสู่กระบวนการทอให้เป็นผ้า หลังจากนั้นทางโรงงานจะนำส่งกลับมายังวัด เพื่อให้คนในชุมชนนำผ้ามาตัดเย็บให้เป็นจีวร เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชน โดยในกระบวนการแปรรูปจากขวดมาเป็นผ้านั้นทางวัดจากแดงได้รับการอนุเคราะห์จากทางคณะทำงานด้านการจัดการขยะ โครงการ OUR BangKachao เข้ามาช่วยเหลือในปี 2561.นับตั้งแต่ที่บริษัทเอกชนได้เข้ามาสนับสนุนให้เป็นการรีไซเคิลให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทำให้คนเห็นว่าที่จริงแล้วขยะมีมูลค่า คนในชุมชนจึงหันมาแยกขยะกันมาขึ้นเพื่อส่งให้วัด และส่วนหนึ่งวัดก็รับซื้อจากโรงเรียน .ขยะจะลดลงได้ก็ต่อเมื่อคนมีความเข้าใจในเรื่องของขยะ มองเห็นมูลค่าที่อยู่ในนั้น และในเมื่อเรามีความเข้าใจแล้วว่า ของที่ใช้แล้วสามารถเอาไปทำอะไรต่อให้เกิดประโยชน์ได้ ขยะก็จะไม่เกิด การทิ้งเกลื่อนกราดก็จะหายไปบทความจาก : Environman
9 November 2020