Social Collaboration คืออะไร

กระบวนการทำงานที่มีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมร่วมกัน

“ Social Collaboration 

Social Collaboration

เป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมอันมีลักษณะเฉพาะที่ซับซ้อน ซึ่งไม่สามารถจัดการได้โดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายองค์กรโดยมุ่งเน้นการนำความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วนมาบูรณาการในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกทางสังคมร่วมกัน

เราทำงานอย่างไร กระบวนการทํางานของ
Social Collaboration ในไทย

  • ร่วมกันกำหนดประเด็นที่ต้องการพัฒนา เพื่อการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการของคนในชุมชนมากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ร่วมกันกำหนดวิธีการวัดผลการดำเนินงาน โดยร่วมมือกันเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
  • ร่วมกันจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน โดยประสานงานและร่วมมือกันทุกขั้นตอน
  • สื่อสารและประสานงานกันอย่างต่อเนื่องระหว่างคณะทำงานและชุมชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน รวมทั้งช่วยกระตุ้นพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ซึ่งกันและกัน
  • ร่วมกันจัดตั้งคณะเลขานุการโครงการ เพื่อบริหารภาพรวมและดำเนินงานให้ตรงตามวัตถุประสงค์มากที่สุด

กรณีศึกษา social collaboration

ประเทศเคนย่า 
การเพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่มี
เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาขั้นวิกฤตในแทบทุกด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม ยาเสพติด และแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกอย่างซาฟารี ยังไร้แหล่งเงินทุนสนับสนุน ในขณะที่รัฐบาลไม่มีความสามารถในการชักชวนนักลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาใหญ่อย่างการคอร์รัปชั่นที่กลายเป็นผลกระทบด้านลบให้สังคมถูกแช่แข็งอย่างยาวนานหลายสิบปี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ประเทศเคนย่า โดยรัฐบาลในสมัยนั้น ตื่นตัวในการเปลี่ยนดินแดนอันด้อยพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นและแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับต่ำ พร้อมก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลางภายในปีค.ศ.2030 โดยวางแผนการเปลี่ยนแปลงชาติในทุกด้านให้ดียิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนในประเทศมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ
แนวทางการพัฒนาประเทศรูปแบบใหม่ของเคนย่าแผนนี้มีชื่อว่า “Kenya Vision 2030” ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาในปีค.ศ.2008 โดยให้ความสำคัญในการพัฒนา 4 โครงสร้างที่เป็นเสาหลักของประเทศ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่รัฐบาลกำหนดเพื่อการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ในส่วนของเศรษฐกิจ ทางรัฐบาลมุ่งเน้นชูประเด็นที่มีโอกาสเป็นแหล่งรายได้ใหญ่อย่างการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าสูงมากของประเทศ เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมใช้วิธีการบริหารจัดการนักท่องเที่ยว
โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อออกแบบสินค้าและบริการให้ตรงใจและตอบโจทย์มากที่สุด รวมทั้งเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับเอบวกที่มีรายได้สูงจากทั่วโลก ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้พร้อมสัมผัสประสบการณ์และวัฒนธรรมอันโดดเด่นของเคนย่า
หลังจากดำเนินการพัฒนาประเทศตามแผน Kenya Vision 2030 ในทุกๆ ด้าน ผลความสำเร็จที่โดดเด่นคือด้านการท่องเที่ยว ในปีค.ศ.2017 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวในเคนย่าเติบโตสูงขึ้นถึง 17 เปอร์เซนต์ ส่งผลให้ตัวเลข GDP ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลลัพธ์เชิงบวกนี้ทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง รวมทั้งเกิดการยกระดับและต่อยอดด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม


------------------------------------------------------------------------------------------

เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
พื้นที่สาธารณะแก้ปัญหาส่วนรวม
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก่อนที่โคเปเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก จะกลายเป็นตัวอย่างเมืองพื้นที่สีเขียวดั่งเช่นในปัจจุบัน น้ำในอ่าวของเมืองเกิดความเน่าเสียอย่างรุนแรงจนไม่สามารถใช้สำหรับอุปโภคหรือบริโภคได้ สาเหตุของปัญหาในยุคนั้นคือ การพัฒนาด้านการคมนาคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้รับอิทธิพลจากฝั่งอเมริกันที่นิยมใช้รถยนต์มากกว่าการเดินตามแบบฉบับดั้งเดิมของคนยุโรป ส่งผลกระทบให้เกิดการตัดต้นไม้จำนวนมากเพื่อสร้างถนนกลางเมือง
สภาเมืองโคเปนเฮเกนไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จึงเร่งเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงกระบวนการพัฒนาพื้นที่ให้ไปในทิศทางที่เหมาะสมมากขึ้น และเริ่มต้นด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ "A Metropolis for People" หรือเมืองสาธารณะสำหรับส่วนรวมเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม สภาเมืองไม่ได้เน้นเพียงการก่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสำหรับทุกคนเท่านั้น ยังมีการจัดกิจกรรมที่สนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้คนในเมืองออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งหรือเดินเล่นกันมากขึ้น รวมทั้งจัดกิจกรรมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ สภาเมืองยังสร้างสรรค์ “Waterfront Design Catalogue” แค็ตตาล็อกภาพ ในรูปแบบหนังสือ ที่สามารถสั่งซื้อได้ที่สภาเมือง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบ แสดงให้เห็นแนวคิดและแรงบันดาลใจการดีไซน์สถาปัตยกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจในแนวทางการสร้าง (สร้างหรือปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลง) ท่าเรือให้เป็นพื้นที่ริมอ่าวที่เหมาะสำหรับใช้งานในทุกโอกาส
นโยบายการพัฒนาเมืองและวิสัยทัศน์ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดโดยสภาเมืองโคเปนเฮเกน ผ่านการวางแผน วิจัยศึกษาแนวคิด และความเป็นไปได้อย่างเป็นระบบ โดยมีฝ่ายจัดการเทคนิคและสิ่งแวดล้อมของสภาเมืองเป็นผู้รับผิดชอบหลัก และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและประชาชน ทุกคนมีส่วนร่วมได้จริง
ด้วยกระบวนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะแบบมีส่วนร่วมนี้ ปัจจุบันพื้นที่รอบอ่าวโคเปนเฮเกนได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ใช้สอยและพักผ่อนสำหรับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในภาคเอกชน หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจของเมกะโปรเจกต์นี้คือ Kalvebod Wave และโครงการสร้างทางจักรยานข้ามคลองเชื่อมต่อและสะพาน 2 แห่ง ที่ชื่อ Bryggebroen และ Inderhavnsbroen เนื่องจาก 50 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรในโคเปนเฮเกนเลือกใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และโครงการสะพานคนข้ามแห่งใหม่ในเขตเวิ้งอ่าวตอนในของนูฮาวน์ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกันเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมที่อาจเกิดจากผลกระทบของสภาวะโลกร้อน โดยจัดการให้ส่วนต่างๆ ของเมืองสามารถจัดการกับระบบน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองถือเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญ เนื่องจากเมืองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นการรับฟังความต้องการและข้อเสนอแนะซึ่งกันและกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากที่สุด
                                                                                                               

------------------------------------------------------------------------------------------

เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
ชุบชีวิตเมืองแห่งประวัติศาสตร์ด้วยพลังส่วนรวม
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากอดีตและการมุ่งพัฒนาเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบให้เมืองสำคัญอย่างเกียวโต สูญเสียเอกลักษณ์ในหลายๆ ด้าน ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ในปีค.ศ 2007 เทศบาลเมืองเกียวโตจึงสร้างสรรค์แผนฟื้นฟูเมืองแห่งประวัติศาสตร์แห่งนี้ เพื่อสร้างให้เกียวโตเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ดังเดิม โดยวางแผนการพัฒนาระยะยาว 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 2011-2020 ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนชาวเกียวโตทุกกลุ่ม
แผนฟื้นฟูเมืองเกียวโตดังกล่าวที่ทุกคนมีส่วนร่วม เริ่มต้นด้วยการกำหนดผังเมืองให้มีระบบระเบียบ แบบแผน และมีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งทำหน้าที่ดูแลการบูรณะสถาปัตยกรรมทั้งหมดในเมือง โดยเน้นการกำหนดความสูงของอาคาร และออกกฎระเบียบควบคุมการใช้ป้ายโฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์อย่างเคร่งครัดทั่วทุกมุมเมือง รวมทั้งปรับภูมิทัศน์ในบางพื้นที่ ให้มีความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมในอดีต เพื่อให้เมืองเกียวโตอันเก่าแก่สามารถอยู่ร่วมกับความทันสมัยได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ แผนการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วม ส่งผลให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติหลายแห่ง อาทิ บริเวณแม่น้ำคาโมะที่เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเมือง ถูกออกแบบให้คนเกียวโตและนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างความหลากหลายให้พื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูซากุระบานทุกปี ผู้คนในท้องถิ่นจะมาจับจองใช้สถานที่ริมแม่น้ำ เพื่อจัดสรรพื้นที่ในการขายของในเทศกาลชมซากุระ ก่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีจำนวนนักท่องเที่ยวทางประเพณีและวัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก
ปัจจุบัน เกียวโตกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ และเสน่ห์ทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ผสมผสานบรรยากาศความเป็นโลกยุคโมเดิร์นได้อย่างลงตัวมากที่สุดในโลก ทั้งหมดนี้เกิดจากการชุบชีวิตเมืองด้วยพลังส่วนรวม ซึ่งทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืนและกลมกลืนกับตัวตนที่แท้จริงของชุมชนมากที่สุด

------------------------------------------------------------------------------------------